วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กิจกรรมพัฒนาคุณภาพหน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ประจำเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2553

วันที่ 7 มิย. 2553



เตรียมรับมือ สรพ. ติวการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพของทีมพยาบาลและEMT
หัวหน้าใช้ไสยศาสตร์เข้าช่วยกลัวน้องๆจำตัวชี้วัด และเป้าหมายหน่วยไม่ได้ ก็เลยพาจัดบอร์ดตัวชี้วัด เป้าหมาย ขอบเขตงานใน ER ซะเลย (กันลื่น) เผื่อถูกถามให้ลากอาจารย์ไปที่บอร์ดเลย จากนั้นไกด์เรื่องความเชื่อมโยงจาก PCT ต่างๆกับงานหน่วยงานเรา เอาคำถามเก่าๆของ สรพ.มาลองถามและหาคำตอบกันดู ซ้อมไว้ๆนะทุกคน
ได้ตัวช่วย พี่น้อยช่วยติวเรื่อง IC ให้อีก เน้นเพิ่มการปฏิบัติตามแนวทาง ICT เรื่องการระบุวัน เวลาเปิด หมดอายุของยาที่เปิดใช้แล้ว การป้องกันตัวเอง การแยกขยะ การล้างมือ การปฏิบัติเมื่อถูกของมีคมที่เปื้อนสารคัดหลั่งคนไข้ทิ่มตำ ให้ล้างส่วนที่ถูกทิ่มตำด้วยน้ำ สบู่มากๆ แล้วเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ ไม่ต้องบีบเค้น เพราะยิ่งทำให้เนื้อเยื่อบอบช้ำ ติดเชื้อง่ายขึ้น (ยายน้อยจะมาตรวจตราขยะอีกแต่เช้ามืดก่อนอาจารย์มา ย้ำให้พยาบาลเหยียบดูขยะบ่อยๆ ถ้าเกินสองในสามถังให้บอกพี่เปล แม่บ้านเปลี่ยนออกเลย)
หนึ่งแจงความเสี่ยง High risk. High volumn.
ไก่เตรียมความพร้อมเครื่องมือ พบว่าเครื่อง suction 2 เครื่อง หมดอายุวันสอบเทียบ ถามไปยังรัตนาพร(ทีมเครื่องมือ) บอกว่ามีแผนจะทำใน วันที่ 28-30 มิย.นี้ ก็เป็นอันว่าตอบตามนี้แหละนะ และเตรียมตอบชุดข้อมูลงาน ER
เล็กตรวจสอบ CASE emer, urgent. ย้อนไปสองสามวันว่ามีลงข้อมูลไม่ครบมั้ย รับอาสาอยู่ประจำห้องฉีดยา เพราะมั่นใจว่าความรู้คู่ยา ผมไม่พลาดแน่ มั่นใจๆๆๆ
ป๋อมนั่งฟัง เน้นเรื่อง clinical risk ครั้งล่าสุด เรื่องทรุดลงระหว่างส่งต่อ case stroke ให้พูดแนวทบทวน 12 กิจกรรม กำชับห้ามลืม
ส่วนเด็กหญิงเมเป็นอาจารย์ติวเรื่อง ENV.และ 5ส การจัดการอัคคีภัย เน้นบทบาทหัวหน้าเวรและสมาชิกในเวรแต่ละเวร ทั้งพยาบาล และ EMT , ผัง 5ส ติดใหม่ให้ up date ร้อนๆพร้อมเสริฟ
จุ๊วิ่งไปหาภัตตาหารมารองท้อง ดันทำลูกชิ้นหกทิ้งทั้งจาน เกือบพากันเก็บไปเข้าเวฟกินซะแล้ว ดังนั้นเงาะกับสัปปะรดที่เหลือก็เลยถูกฟาดเรียบในเวลาอันรวดเร็ว(ไม่มีใครรอใครเลย)
โต้งถูกติวเรื่อง ทบทวน 12 กิจกรรม ของงาน EMS กำชับห้ามลืมเด็ดขาด
หนุ่มรับเรื่องตรวจสอบอุปกรณ์ ความพร้อมใช้ของภายในรถออกเหตุ และกระเป๋าออกเหตุ
สังเกตเห็นว่าเคาน์เตอร์EMT ดูโล่งสะอาดขึ้นนะ ดีๆๆ รักษามาตรฐานต่อไปด้วย
ยังมีผู้เสียสละอยู่เฝ้าในเวร บริการคนไข้รอกลุ่มติว ต้องปรบมือดังๆให้ หงา กับ ไหม รวมทั้งน้องๆที่กำลัง tern งานด้วย
เห็นความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของทีมงานทุกๆคนแล้ว รู้สึกตื้นตัน อยากเห็นภาพแบบนี้ให้คงอยู่ในหน่วยงานของเราตลอดไป เอาล่ะนะวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นส่วนเติมเต็มให้หน่วยงานเราก็แล้วกัน ER สู้ๆ!!!!!

สัมภาษณ์หมอยา (อดีตหมอตำแย)

สัมภาษณ์หมอยา (อดีตหมอตำแย)



วันที่ 17 พค. 53 ลงพื้นที่สัมภาษณ์ ยายอีม เปรียบดีสุด อายุ 73 ปี บ้านเลขที่ 75/10 ม.11 บ้านหนองจอก ต.ตาเบา อดีตเคยเป็นหมอตำแย เคยช่วยแก้ไขอาการแม่ที่คลอดไม่ออก เพราะเด็กท่าขวาง ด้วยการกลับท่าเด็กทางหน้าท้องได้หลายคน มีหลักฐานให้ไปถามต่อได้ที่ นางถวัลย์ บ้านหนองจอกดูได้ แต่ปัจจุบันยายอีม ได้สนใจและหันเหเปลี่ยนตัวเองมาเป็นหมอยา มีแท่นรูปเคารพตั้งอยู่ในห้องหนึ่งในบ้าน มีผู้มาให้ต้มยาหม้อตำรับรักษามะเร็งส่วนต่างๆ และเดี๋ยวนี้แม่คลอด ไปคลอดที่ รพ.ปราสาทกันสะดวก จึงไม่เคยได้ทำคลอดให้ใครอีก ยายอีมสามารถประกอบพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ ตัดกรรม ดูหมอได้ สามีของยายอีม ชื่อนายลวดก็เป็นหมอสมุนไพรพื้นบ้านเหมือนกัน แต่เป็นตำรับยาอื่นๆไม่ใช่ยารักษามะเร็ง ตั้งใจว่าจะไปสัมภาษณ์ตาลวดอีกในวันต่อๆไป

กิจกรรมพัฒนาคุณภาพหน่วยงานอุบัติเหตุฉุกเฉิน

กิจกรรมพัฒนาคุณภาพหน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน
ประจำเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2553
วันที่ 31 พค. 2553

เตรียมรับมือ สรพ. ติวการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพของทีมเปล และผู้ช่วยฯER ได้ตัวช่วย พี่น้อยช่วยติวเรื่อง IC เน้นการป้องกันตัวเอง การแยกขยะ การล้างมือ การปฏิบัติเมื่อถูกของมีคมที่เปื้อนสารคัดหลั่งคนไข้ทิ่มตำ ให้ล้างส่วนที่ถูกทิ่มตำด้วยน้ำ สบู่มากๆ แล้วเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ ไม่ต้องบีบเค้น เพราะยิ่งทำให้เนื้อเยื่อบอบช้ำ ติดเชื้อง่ายขึ้น การจัดการกับสารคัดหลั่งที่เปื้อนเปล หรือหยดลงพื้น ให้ใช้กระดาษฟางเช็ดออกให้มากที่สุด แล้วราดแอลกอฮอล์ จากนั้นม็อบพื้นตามปกติ

ส่วนเด็กหญิงเมเป็นอาจารย์ติวเรื่อง ENV.และ 5ส การจัดการอัคคีภัย ทำผัง 5ส มาติดใหม่ up date ร้อนๆควันโขมงกันเลย การตรวจสอบและการใช้ถังดับเพลิง ดูว่าแรงดันในถัง เกย์ต้องยังอยู่ในแถบสีเขียวจึงจะใช้ได้ น้องหวันสนใจมาก ทวนสอบเรื่องการดูแล ตรวจสอบแอร์ ไฟฉุกเฉินลุงเป็ดตอบได้ฉะฉาน ค่อยยังชั่วหน่อย

กิจกรรมพัฒนาสมรรถนะเชิงวิชาชีพเฉพาะทางของบุคลากรงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน

href="file:///C:%5CDOCUME%7E1%5Caa%5CLOCALS%7E1%5CTemp%5Cmsohtmlclip1%5C01%5Cclip_filelist.xml" rel="File-List">
กิจกรรมพัฒนาคุณภาพหน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน
ประจำเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน  2553
วันที่  31 พค. 2553 
กิจกรรมพัฒนาสมรรถนะเชิงวิชาชีพเฉพาะทางของบุคลากรงานอุบัติเหตุและฉุกเฉินครั้งที่ 1 /2553รอบ 6 เดือนหลัง  โดย การทบทวนความรู้เรื่อง
1.             การใช้ยาในหน่วยงาน ER  ข้อสอบ 10  ข้อ
2.             การช่วยฟื้นคืนชีพเด็ก (NCPR) ข้อสอบ 20  ข้อ
วปส.  เพื่อค้นหา GAP ในสมรรถนะเชิงวิชาชีพเฉพาะทาง แล้วจัดการพัฒนาต่อไป (บางคนเข้าใจว่าถ้าทำข้อสอบไม่ได้ พี่ต๋องจะให้ไปพับก็อส    แน่ใจเหรอว่าห้องพับก็อสเขาจะรับเรา ฮ่าๆๆๆ)
ผลสอบ  จะแจ้งให้ทุกคนทราบอย่างเปิดเผยต่อไป(หลังสอบครบทุกคน)   เพื่อให้แต่ละคนรู้ตัวตน ของตนเอง และเป็นการแสดงหลักฐานประกอบการประเมินสมรรถนะการสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพของแต่ละคนด้วย

วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ฮาวปลึงกะไบ

วันที่ 14 พค. 53 เวลา 10.00 – 14.00 น. ลงพื้นที่เก็บข้อมูล โดยบันทึกภาพพิธีฮาวปลึงกะไบ ที่บ้านปันรัว หมู่ 10 ตำบลตาเบา อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นพิธีกรรมตามความเชื่อผี บูชาพรามหณ์(สังเกตจากมีการเชิญพรามหณ์มาประกอบพิธี) ที่ชุมชนในพื้นที่เขตตำบลตาเบา นำโดยชาวบ้านปันรัว เป็นกลุ่มที่อนุรักษ์ไว้ เป็นกิจกรรมที่คนในตำบลมารวมตัวกัน ภายใต้ความเชื่อเดียวกัน คือต้องการเสริมขวัญกำลังใจชาวนา ก่อนฤดูลงนา และให้ความสำคัญกับควาย (กะไบ) ที่เป็นผู้ที่ลากคันไถ ช่วยไถนา ให้ชาวบ้าน จนได้ทำนาสำเร็จ ได้ผลผลิตมาเลี้ยงชีวิต อย่างสมบูรณ์ทุกปี เพราะในสมัยโบราณ ไม่มีเครื่องจักรความเหล็ก เหมือนในปัจจุบัน การทำนาของชาวบ้านต้องอาศัยแรงควายในการไถนาเท่านั้น ชาวนาจึงให้ความสำคัญว่า ควาย เป็นสัตว์ที่อยู่คู่ชาวนา ต้องเลี้ยงดูเป็นอย่างดี บ้านไหนไม่มีควายไว้ไถนา เมื่อถึงหน้านาก็จะลำบาก ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเหตุผลของการดำรงอยู่ของพิธีฮาวปลึงกะไบ ตราบมาถึงทุกวันนี้ ในงานพิธีมีการเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน ด้วยการจัดกิจกรรมแข่งไถนาโดยใช้ความยลากคันไถ เพื่อชิงถ้วยรางวัลจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ด้วย (ท่านผู้ว่าให้รองฯ มาร่วมเปิดงานแทน) มีซุ้มแสดงวิถีชีวิตพื้นบ้าน เช่น การสาวไหม การตำข้าว การทำขนมจีน เป็นต้น ซึ่งได้รับความสนใจของประชาชนในพื้นที่ตำบลตาเบา และตำบลใกล้เคียงเป็นอย่างมาก

ปราชญ์พื้นบ้าน บ้านพลวงใต้

วันที่ 14 พค. 53 เวลา 17.00 – 19.30 น.

ลงพื้นที่เก็บข้อมูล โดยได้สัมภาษณ์ คุณตาใน ลัดดาไสว อายุ 77 ปี ชาวบ้านพลวงใต้ เลขที่ 12 หมู่ 1 ตำบลบ้านพลวง ปราชญ์พื้นบ้าน ของชุมชน ที่ได้รับการเคารพนับถือ จากผู้คนว่ามีความสามารถในการเป่า จ่มมนตร์ ให้เด็ก เล็ก ๆ หายจากการเป็นโรคตาล โรคซาง และมีคาถาปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายในสตรีตั้งครรภ์ สตรีหลังคลอดให้ปลอดภัยจากผีปอบ ผีป่า ไม่ให้มากล้ำกราย และนอกจากนั้นยังมีความสามารถเฉพาะตัวในการเล่นดนตรีพื้นบ้านโบราณได้ทุกประเภท ได้แก่ ฆ้องวงใหญ่ ระนาด ซออู้ ซอด้วง กลองตะโพน เป่าปี่ ตีฉิ่ง กรับ เป็นต้น ซึ่งเครื่องตนตรีเหล่านั้นยังมีอยู่ให้เห็นบนบ้านของตาในด้วย และในยามว่างตาในยังมีฝีมือในการจักสาน สังเกตได้จาก บริเวณบ้านปรากฏเห็นทั้งไซดักปลา ตะข้อง สุ่มจับปลา สุ่มไก่ กรงนกเขา รวมทั้งกระเชอข้าวยักษ์ขนาดใหญ่ สานจากไม้ไผ่เหลา สำหรับประกอบพิธีแซนโฎนตา เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บอกถึงความเป็นปราชญ์พื้นบ้านผู้มากด้วยความสามารถอย่างลึกซึ้งในหลาย ๆ เรื่อง ฉันได้สัมภาษณ์ถึงกรรมวิธีในการจ่มมนตร์ เพื่อปัดเป่าต่าง ๆ จากตาใน ซึ่งฉันได้รับความกรุณาอย่างมากจากตาใน ช่วยให้เรามองเห็นความงดงามของภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่บ่งบอกถึงการเป็นอยู่ที่พึ่งพาตนเอง อย่างพอเพียงได้ชัดเจนขึ้น

ปราสาทหินบ้านพลวง

วันที่ 12 พค. 53 ลงพื้นที่เก็บข้อมูล โดยได้สัมภาษณ์ ลุงดอม ประไวย์ อายุ 57 ปี ชาวบ้านพลวงใต้ หมู่ 1 ตำบลบ้านพลวง ผู้ได้รับการไว้วางใจจากกรมศิลปากร ให้เป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยของปราสาทหินบ้านพลวง ทราบข้อมูลจากลุงดอมว่าปราสาทหินบ้านพลวงเป็นศาสนสถานขนาดเล็ก ที่สร้างเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวะนิกาย นับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ศิลปะขอมสมัยบาปวน (พศ. 1560 – 1630) ศาสนสถานแห่งนี้คงเป็นศูนย์กลางทางด้านศาสนาฮินดูของชุมชนโบราณ วัฒนธรรมขอมในเขตบ้านพลวงและใกล้เคียงในอดีต ระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ 16 – 18 ต่อมาจึงถูกทิ้งร้างไป เนื่องจากการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรขอม ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อย่าคอยจับผิดคนอื่น


อย่าคอยจับผิดคนอื่น


ก็มันอดไม่ได้นี่นา...

อย่าคอยจับผิดคนอื่น เพราะมันทำให้ชีวิตเสียเวลา

เราก็มียี่สิบสี่ชั่วโมงเท่ากับคนอื่น เอาเวลามาทำเรื่องที่สร้างสรรค์จะดีกว่า

อย่าคอยมองหาข้อบกพร่องของคนอื่น เพราะมันทำให้เสียเวลา

ข้อบกพร่องของเขาไม่ได้ทำให้แผ่นดินที่เรายืนอยู่สูงขึ้นมา

ทุกคนต่างมีเส้นทางที่แตกต่าง

ตราบใดที่เขาไม่ได้ทำให้เราและครอบครัวของเราเดือดร้อน

ตราบใดที่เรายังกินอิ่มได้ ยังนอนหลับฝันดี

จะไปพะวงและยุ่งเรื่องของคนอื่นอยู่ทำไม เลิกให้ความรู้สึกฝังหัวแบบเดิมๆ

มันทำให้จังหวะการเดินในชีวิตของเราสะดุด เราเอาใจไปใส่ในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่อง

ปล่อยความคิดให้เบา ทำหัวของเราให้เบา เลือกมองแต่เรื่องดีๆ รอบตัว

เลือกมีชีวิตที่สวยงาม Seeing the fault in the other is not the right way of life

พฤติกรรมของคนดี

พฤติกรรมของคนดี

พฤติกรรมของคนดี (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)
ลักษณะของบัณฑิต
๑ พูดแต่ในสิ่งที่ดี
๒ คิดแต่ในสิ่งที่ดี
๓ ทำแต่สิ่งที่ดีเสมอไป

พฤติกรรมของบัณฑิต
๑. ชอบทำแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์
๒. ชอบชักชวนคนอื่นในทางดี
๓. ชอบเสนอแนะสิ่งที่มีประโยชน์ให้กับคนอื่น ๆ
๔. มีความรับผิดชอบในหน้าที่อย่างดีที่สุด
๕. มีศีลธรรมประจำใจ
๖. น้อมรับคำตักเตือน ไม่ดื้อ ไม่โกรธ เมื่อมีคนมาสอน
๗. อ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่มีความลำพอง ถือตัวถือตน เย่อหยิ่ง
๘. ไม่ปกปิดความผิดของตัวเอง
๙. บอกกล่าวความดีของคนอื่นให้คนอื่น ๆ ได้รู้กัน
แหล่งที่มาจาก : พลังจิตดอทคอม

คิดบวก คิดบวก คิดบวก

คิดบวก คิดบวก คิดบวก
ชีวิต ถ้าพบแต่ความสุข เราก็จะไม่รู้จักพอ
แต่ถ้าเราพบกับความทุกข์ และความสุข ปะปนกันไป
... ก็จะทำให้เรา "เข้มแข็ง" และใช้ชีวิตอย่างมี "ค่า"
เวลาเจองานหนัก ให้บอกตัวเองว่า นี่คือโอกาสในการเตรียมพร้อม สู่ความเป็นมืออาชีพ
เวลาเจอปัญหาซับซ้อน ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบทเรียน ที่จะสร้างปัญญาได้อย่างวิเศษ
เวลาเจอความทุกข์หนัก ให้บอกตัวเองว่า นี่คือความฝึกหัด ที่จะช่วยให้เกิดทักษะในการดำเนินชีวิต
เวลาเจอนายจอมละเมียด ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการฝึกตนให้เป็นคนสมบูรณ์แบบ (perfectionist)
เวลาเจอคำตำหนิ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการชี้ขุมทรัพย์มหาสมบัติ
เวลาเจอคำนินทา ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการสะท้อนว่าเรายังคงเป็นคนที่มีความหมาย
เวลาเจอความผิดหวัง ให้บอกตัวเองว่า นี่คือวิธีที่ธรรมชาติ กำลังสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต
เวลาเจอคนกลิ้งกะล่อน ให้บอกตัวเองว่า นี่คืออุทาหรณ์ของชีวิตที่ไม่น่าเจริญรอยตาม
เวลาเจอคนเลว ให้บอกตัวเองว่า นี่คือตัวอย่างของชีวิตที่ไม่พึงประสงค์
เวลาเจอศัตรูคอยกลั่นแกล้ง ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบททดสอบที่ว่า "มารไม่มี บารมีไม่เกิด"
เวลาเจอวิกฤต ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบทพิสูจน์ธรรม "ในวิกฤตย่อมมีโอกาส"

ที่มา : http://variety.teenee.com/foodforbrain/17364.htm

แนวทาง 10 ประการในการเอาชนะความทุกข์

แนวทาง 10 ประการในการเอาชนะความทุกข์
1. เวลาพบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ มันชวนให้ท่านโกรธหรือเดือดร้อนใจขึ้นมา จงอย่าพึ่งพูดอะไรออกไป หรือจงอย่าพึ่งทำอะไรลงไปแต่จงคิดให้ได้ก่อนว่า นี่คือสิ่งที่คนทุกคนในโลกนี้ ไม่ปรารถนาจะพบเห็น แต่ทุกคนก็ต้องพบกับมัน สิ่งนี้คือสิ่งที่ ท่านจะเอาชนะมัน ด้วยการสลัดมันให้หลุดออกไปจากใจก่อน ถ้าท่านสลัดมันออกไปจากใจได้ ท่านก็จะเป็นอิสระ และไม่เป็นทุกข์ เมื่อท่านไม่เป็นทุกข์ เพราะมันก็หมายความว่า ท่านชนะมัน
2. เมื่อคิดได้ดังนั้น จนจิตมองเห็น สภาวะที่ใสสะอาด ในตัวมันเอง จงหวนกลับไปคิดว่า แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? ไม่กี่นาที ท่านก็จะรู้วิธีที่จะแก้ปัญหานั้น อย่างถูกต้องที่สุดและฉลาดเฉียบแหลมที่สุด โดยที่ท่านจะไม่เป็นทุกข์กับเรื่องนั้นเลย
3. เวลาที่พบกับความพลัดพรากสูญเสีย ก็จงหยุดจิตไว้อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว และจงยอมรับว่า นี่คือ สภาวะธรรมดา ที่มีอยู่ในโลก มันเป็นของที่มีอยู่ในโลกนี้มานานแล้ว ท่านจะไปตื่นเต้น เสียอกเสียใจกับมันทำไม มันจะเป็นอย่างไร ก็ให้มันเป็นไป ไม่ต้องตื่นเต้น และจงคิดให้ได้ว่า ในที่สุดแล้วท่านจะต้องพลัดพรากและสูญเสีย แม้กระทั่งชีวิตของท่านเอง วิธีคิดอย่างนี้ จะทำให้ท่านไม่เป็นทุกข์เลย
4. เวลาประสบกับเรื่องที่ไม่ดี จงอย่าคิดว่าทำไมถึงต้องเป็นเรา? ทำไมเรื่องอย่างนี้จึงต้องเกิดขึ้นกับเรา ? จงอย่าคิดอย่างนั้นเป็นอันขาด เพราะยิ่งคิดเท่าไหร่ ท่านก็ยิ่งจะเป็นทุกข์เท่านั้น ความคิอย่างนั้นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา
5. คงคิดอย่างนี้เสมอว่า ไม่เรื่องดีก็เรื่องเลวเท่านั้นแหละที่จะเกิดขึ้นกับเรา ไม่ต้องตื่นเต้นกับมันจงยอมรับมัน กล้าเผชิญหน้ากับมัน และทำจิตให้อยู่เหนือมัน ด้วยการไม่ยึดมั่นในมันและไม่อยากจะให้มันเป็นไปตามใจของท่าน แล้วท่านก็จะไม่เป็นทุกข์
6. ขอเฝ้าสังเกตดูความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอ ถ้าจะไม่สบายใจ จงหยุดคิดเรื่องนั้น ทันทีถ้าสบายใจอยู่ ก็จงเตือนตัวเองว่า อย่าประมาท ระวังสิ่งที่มันจะทำให้เราไม่สบายใจจะเกิดขึ้นกับเรา ให้ท่าน พร้อมรับ เป็นอย่างนี้ด้วยจิตที่เปิดกว้างอยู่เสมอ
7. ถ้าจะเกิดความสงสัยอะไรขึ้น สักอย่างหนึ่ง ก็จงตอบตัวเองว่า อย่าเพิ่งสงสัยมันเลย จงทำจิตใจให้สงบ และเพ่งให้เห็นความสะอาดบริสุทธิ์ ภายในจิตของตัวเอง อย่างชัดเจน และสรุปว่า ไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่า การเข้าถึงสภาวะแห่งความสงบ และเป็นอิสระเสรี ภายในจิตของท่านได้
8. ความรู้จักในการรักษาจิตให้ สงบและสะอาด อยู่เสมอ นี่แหละ คือ สติปัญญาความรู้แจ้งธรรม ความเป็นจริง ความทุกข์จะ เกิดขึ้นในใจของท่านไม่ได้เลย
9. จงเข้าสมาธิความสมควรแก่เวลาที่เอื้ออำนวย ไม่ต้องปรารถนาจะเห็น หรือจะได้ จะเป็นอะไรจากการทำสมาธิ และเมื่อ จิตสงบเย็นแล้ว จึงเพ่งพิจารณาชีวิตสิ่งแวดล้อม และปัญหาที่ตัวเองกำลังประสบอยู่แล้ว สรุปว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่ควร ยึดมั่นถือมั่นเลย
10. จงทำกับปัญหาทุกอย่าง ให้ดีที่สุด ใช้ ปัญญา แก้ไขมัน ไม่ต้องวิตกกังวลกับมัน ถึงเวลาแล้ว จงเข้าสู่สมาธิ ได้เวลาแล้ว จงออกมาสู้กับปัญหาอย่างนี้เรื่อยไป และจงปฏิบัติเช่นนี้ทุกวัน แล้วจิตของท่านก็จะบรรลุถึงความสะอาดบริสุทธิ์ ได้อย่างสมบูรณ์สูงสุดในสักวันหนึ่งซึ่งไม่นานนัก

แหล่งที่มา
แนวทาง 10 ประการในการเอาชนะความทุกข์. (2551). แหล่งที่มา http://variety.teenee.com/foodforbrain/9353.html.

งาน ให้ความหมายแก่ชีวิต

งาน ให้ความหมายแก่ชีวิต
ชีวิตมีใจเป็นสำคัญ...และกำลังใจนั้นมีองค์ประกอบสามประการคือความบากบั่นพากเพียรไม่ยอมหยุดความรู้ตัวทั่วพร้อมตื่นเต็มที่และความแน่วแน่ตั้งมั่นของความคิดการพัฒนาชีวิต...จะต้องสร้างกำลังใจให้แข็งแกร่งโดยมีความเพียร รู้ตัว และแน่วแน่ พร้อมกันไปในการกระทำทุกอย่างเพียรพัฒนาชีวิตนั้นคืออย่างไร คือ เพียรที่จะทำใจให้สว่าง สะอาด สงบไม่ลดละ ชำระล้าง ความขุ่นมัวไม่ยอมหยุดที่จะระแวดระวัง รักษาใจหมั่นทำใจให้ใส สงบ เย็น อย่างแน่วแน่...เฝ้ารักษาใจสว่าง สะอาด สงบ นั้นไว้ผู้ที่จะสร้างชีวิตตนเองสำเร็จนั้นต้องเพียรฝึกอดกลั้นทนความยากลำบาก...ไม่ปริปากบ่นร้องทุกข์ ไม่สงสารตัวเองไม่เห็นแก่สุข สะดวก สบาย เฉพาะหน้า...ไม่อ่อนแอ ยอมแพ้ ต่ออุปสรรคไม่รู้จักผิดหวัง หรือสิ้นหวัง...หมั่นสำรวจความบกพร่องของตนเองไม่ยอมหยุดที่จะ สร้างพลังใจทำอะไรยังไม่เสร็จ อย่าคิดเลิก...หากเหนื่อยนัก หยุดพักได้ แต่อย่าทิ้ง...และไม่ควรทำงานอย่างหักโหมด้วยความรีบเร่งรีบร้อนจะให้งานเสร็จเร็ว ๆ...มักทำให้ขาดความพินิจพิเคราะห์เกิดความบกพร่อง งานไม่สมบูรณ์...ผลงานขาดคุณค่า ตนเองก็ไม่ภาคภูมิใจชีวิตที่มีคุณค่าไม่สูญเปล่านั้นคือชีวิตที่ประกอบการงานสร้างสรรค์การงานให้ความหมายแก่ชีวิต...เราจักต้องรู้จักรักชีวิตโดยรักการงานขณะใดเราทำงานด้วยความเบื่อหน่ายจำใจ...เรากำลังขาดทุนชีวิต...เพราะขณะนั้นเรากำลังมีชีวิตอยู่เพียงเสี้ยวเดียวเมื่อใดเราทำงานด้วยความรักความเต็มใจจิตใจเราตื่นเต็มที่ ผ่องใส...สุข สนุก ในงานนั้น...เราได้กำไรชีวิต...เพราะชีวิตเรากำลังเต็มเปี่ยม..และจะผลิดอกออกผลต่อไปอีกด้วยความเพียรแท้จริง ไม่ใช่บังคับตนให้ทำงาน...อย่างเบื่อหน่ายและจำใจ...แต่คือการทำงานด้วยความรักงาน เต็มใจ สม่ำเสมอ...ด้วยจิตใจผ่องใสสุขลอดเว ลา...ที่มา http://board.palungjit.com/f14/การงานให้ความหมายแก่ชีวิต-94044.html อ้างถึงใน http://www.tamdee.net/forum/forum_posts.asp?TID=151&PN=1

วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บทความภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลสตรีหลังคลอดชาติพันธ์แขมร์เลอ

บทความเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพของสตรีหลังคลอด ในกลุ่มชาติพันธุ์แขมร์เลอ
พฤกษชาติ ทบแป

บทนำ
ทุกชาติภูมิ ล้วนมีภูมิปัญญาดั้งเดิมของตน อันเป็นผลจากการสั่งสมประสบการณ์ การเรียนรู้ และความเข้าใจในชีวิตต่อธรรมชาติ (กิ่งแก้ว เกษโกวิทและคณะ.2547:1) ถ่ายทอดต่อๆกันมา จนกลายเป็นเอกลักษณ์ และยึดถือปฏิบัติกันต่อมา ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้ สติปัญญาในการแก้ไขปัญหา และการจัดการ หรือการปรับตัวในการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมกับยุคสมัย ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้เชื่อมโยงสิ่งแวดล้อมทางสังคม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นฐานคิดที่อยู่ในมิติของวัฒนธรรม และมีอิทธิพลต่อท่าที ความรู้สึกนึกคิดและเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคนในท้องถิ่น(จรรยา จินต์จิระนันท์.2547:1)
สังคมไทยเป็นสังคมหนึ่ง ที่ใช้ความสามารถในการดำรงชีวิต บูรณาการจนก่อรูปเป็นวัฒนธรรมแบบต่างๆ สืบทอดต่อกันมานับชั่วอายุคน ไม่ต่างจากสังคมอื่นๆ มีทั้งภูมิปัญญาด้านการเกษตร หัตถกรรม ศิลปะ ดนตรี ตลอดจนการดูแลสุขภาพด้านต่างๆ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ ล้วนแต่เกิดจากการคิดเอง ทำเอง มีความเป็นลักษณะเฉพาะ และแตกต่างกันไป โดยสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับแต่ละโอกาส สถานการณ์ ของแต่ละชุมชนหรือท้องถิ่น จนเกิดองค์ความรู้ที่สามารถสืบทอดอย่างต่อเนื่องได้ เรียกว่า “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” หรือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” (จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร.2548:1) มีการกล่าวถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ “ชาติหรือชุมชนที่ดำรงความเป็นชาติ หรือชุมชนมาได้ ย่อมต้องมีภูมิปัญญาแห่งชาติ (Nation wisdom) หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) อันผ่านการสังเกต ทดลองใช้ คัดเลือก และถ่ายทอดเป็นวัฒนธรรมสืบต่อกันมา การพัฒนาใดๆ หากขาดการคำนึงถึงภูมิปัญญาแห่งชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว การพัฒนานั้นๆอาจทำให้ เสียสมดุลในชีวิตและสังคม” (ประเวศ วะสี อ้างในจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร.2548:1)
ในปัจจุบันการแพทย์สมัยใหม่ เป็นกระแสหลัก ของคนทั่วโลก ทำให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เคยมีในชุมชนต่างๆ อาจถูกมองข้าม หรือถูกละเลย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่เอง ถึงแม้จะมีความทันสมัย แต่ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพทั้งหมดของท้องถิ่นได้ โดยเฉพาะความต้องการด้านองค์รวม ทั้งทางอารมณ์ สังคม และจิตใจ ดังคำบอกเล่าของ แม่บัวลี ห่อชินวงษ์ อายุ 74 ปี , เมืองชนะสมบูรณ์ สปป.ลาว. 22 สิงหาคม 2552 “ผ่านการคลอดลูกเจ็ดคน คลอดอยู่บ้าน ไม่เคยคลอดที่โรงพยาบาล กินยาต้มรากไม้ หมอพื้นบ้านหามาขายให้ ซื้อสิบถึงยี่สิบกีบ อยู่ไฟหก เจ็ดวัน อาบน้ำอุ่นตลอดเวลาอยู่ไฟ”
และคำบอกเล่าของ แม่ได้ สีนาวงษ์ อายุ 63 ปี , เมืองชนะสมบูรณ์ สปป.ลาว. 22 สิงหาคม 2552 “หลังคลอดกินน้ำร้อน นอนไฟ กินน้ำร้อน 1 เดือน หรืออบไอร้อน 2 อาทิตย์ งดนอนกับผัวเกือบ 2 เดือน ลดเผ็ด เค็มมากและอาหารดิบ”
และนั่นคือตัวอย่างของการพึ่งพิงภูมิปัญญาที่เป็นสิ่งที่ประชาชนปฏิบัติต่อๆกันมา และเป็นการช่วยเหลือตนเอง เพื่อทดแทนสิ่งที่บริการการแพทย์สมัยใหม่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในทุกมิติของเขาได้ ในบางครั้งหลักปฏิบัติทางการแพทย์สมัยใหม่ ก็ขัดแย้งกับวิถีชีวิตเดิมของคนในท้องถิ่น ค่าใช้จ่าย ที่กลายเป็นภาระของประชาชนที่ต้องจ่ายสูงขึ้น และเกิดปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงบริการการแพทย์สมัยใหม่ได้อย่างทั่วถึง มีช่องว่าง และความแตกต่างระหว่างคนในสังคมเมืองกับสังคมชนบท การดูแล รักษา ฟื้นฟูสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ควรต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ความต้องการ และไม่ขัดต่อวัฒนธรรมที่จัดอยู่เหนือความคิด หรือกฎเกณฑ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ซึ่งมักถูกมองว่าล้าหลัง งมงาย
ภูมิปัญญาท้องถิ่นการแพทย์แผนไทยเป็นความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพของคนในชุมชน โดยเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองทางด้านสุขภาพและอนามัย ในทฤษฎีการแพทย์แผนไทย สมุฏฐานของความเจ็บป่วยทั้งหลายนั้นเกิดจากความวิปริตแปรปรวนหรือเสียสมดุลของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นร่างกายของมนุษย์โดยมีปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ ฤดู อายุ กาลเวลา ถิ่นที่อยู่ พฤติกรรมทางกาย สภาพจิตใจ และอาหาร เข้ามาเกี่ยวข้อง หลักการบำบัดรักษาความเจ็บป่วยจึงมุ่งไปที่การปรับสมดุลของธาตุ(คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. 2549. อ้างในสิริพันธ์ รุ่งวิชานิวัฒน์ และคณะ. 2552:136) เป็นวิถีหรือองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพ ทั้งการส่งเสริม การรักษา การฟื้นฟูร่างกาย จิตใจ สิ่งแวดล้อม โดยใช้องค์ความรู้ ของตนเอง ของคนไทยที่หล่อหลอมสืบต่อกันมา เนิ่นนาน ถ้าแยกย่อยภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยออกมาเป็นรายละเอียดก็จะได้ตั้งแต่การดูแลทารก เด็ก หญิงตั้งครรภ์ หลังคลอด ผู้สูงอายุ และอื่นๆ ซึ่งนับได้ว่าตั้งแต่เกิดจนตาย
ในชุมชนชนบท ในพื้นที่ภาคอีสาน การยึดปฏิบัติ ตามแนวความเชื่อดั้งเดิม การยึดถือสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ยังเป็นสิ่งที่ช่วยควบคุมกำกับให้ผู้คนอยู่รวมกันในชุมชนได้อย่างเป็นปกติสุข สำหรับการดูแลสุขภาพมารดาและเด็กเองก็เช่นเดียวกัน ในพื้นที่ภาคอีสาน ได้มีผู้ศึกษาเชิงสำรวจเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านที่ยังคงสืบทอดของหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และการเลี้ยงดูเด็ก ในเขตอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น พบว่าหญิงตั้งครรภ์ยังคงปฏิบัติตามภูมิปัญญาเดิมอย่างเคร่งครัด ในการดื่มน้ำมะพร้าวเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 63 ทำงานบ้าน และงานอาชีพเหมือนเดิมร้อยละ 88 และร้อยละ 74 ไม่ไปงานศพร้อยละ 82 หญิงหลังคลอดไม่อยู่ไฟร้อยละ 59 กินอาหารประเภทหัวปลี เพื่อเพิ่มน้ำนมร้อยละ 80 ไม่กินเป็ดเทศร้อยละ 50 ส่วนการเลี้ยงดูทารกแรกเกิดถึง 1 ปี ยังคงปฏิบัติตามภูมิปัญญาเดิมด้านการป้อนอาหารเสริม ร้อยละ 39 และพาเด็กไปครอบของรักษาร้อยละ 42 ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายังมีการใช้ความเชื่อ หรือภูมิปัญญาเดิมมายึดถือปฏิบัติดูแลสุขภาพของกลุ่มมารดา และทารกอยู่ (กิ่งแก้ว เกษโกวิษ และคณะ. 2547:บทคัดย่อ)

เนื้อหา
ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มีชุมชนหลายชาติพันธ์อาศัยอยู่ เช่น ลาว กูย ส่วย และเขมรหรือแขมร์เลอ ซึ่งแต่ละชุมชนต่างก็มีความเชื่อดั้งเดิมที่ ผ่านการทดลองปฏิบัติ และสั่งสมเป็นภูมิปัญญาที่ช่วยดูแลสุขภาพให้มารดา ทารกมีความปลอดภัย มีการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข ดังข้อมูลที่รวบรวมจากการลงพื้นที่ภาคสนาม เก็บข้อมูลในกลุ่มชาติพันธุ์แขมร์เลอ ตำบลตาเบา อำเภอปราสาท พบว่ามีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพสตรีหลังคลอด มายาวนานโดยแบ่ง ระยะการดูแล ดังนี้
1. ระยะก่อนคลอด ( 3 เดือนก่อนคลอด )
การสังเกตลักษณะใกล้คลอด และการเตรียมการคลอด : ยอดมดลูกจะลดต่ำลง เนื่องจากส่วนนำของเด็กเลื่อนต่ำลงช่องเชิงกราน วัดระดับยอดมดลูก จากระดับ 3/4 เหนือสะดือ ลดลงเป็น 2/4 เหนือสะดือ(lightening) การสังเกตระยะใกล้คลอดสามารถตรวจได้โดย “กดดูที่ใต้ลิ้นปี่ ถ้านุ่ม แสดงว่าอีกไม่เกินหนึ่งถึงสองสัปดาห์ ต้องคลอดแน่นอน” (นางเป็ง มีบุตรดี อายุ 80 ปี ผดุงครรภ์โบราณ. 20 พย. 52 )
การเตรียมสถานที่คลอด เดิมอดีตเตรียมสถานที่คลอดในบ้าน ห้องปิดมิดชิด ไม่มีลมโกรก“บอนเลจ-นอง-กนอง-มัน-ออย-ขยอล-รโฮด” (นางเป็ง มีบุตรดี อายุ 80 ปี ผดุงครรภ์โบราณ. 20 พย. 52 ) เพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในห้อง ป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองปลิวเข้าไปในห้อง การทำคลอดทำโดยหมอตำแย มีสามีหรือผู้หญิงที่มีประสบการณ์ช่วยดูแลระหว่างคลอด และดูแลเด็กแรกเกิด คลอดไม่ได้เสียชีวิตก็มีมาก ปัจจุบัน คลอดที่ โรงพยาบาลปราสาท โดยสามี แม่ย่า แม่ยาย หรือหมอตำแยหรือผู้หญิงที่มีประสบการณ์ช่วยดูแลระหว่างนำส่งและดูแลเด็กแรกเกิดที่ตึกหลังคลอดด้วย หากคลอดเองไม่ได้ ก็รับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง
การรับประทานอาหาร : “โฮบบานกร๊บยาง ออย-เมียนกันลัง-เทอ-การ ออยเวีย-เลจ-เงีย” คือให้รับประทานอาหารได้ทุกอย่าง เพื่อให้มีความแข็งแรงเบ่งคลอดได้ง่าย (นางเป็ง มีบุตรดี อายุ 80 ปี ผดุงครรภ์โบราณ. 20 พย. 52 )
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอันตราย และสิ่งชั่วร้าย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ : “รนา-เกยทะเลียะโกน เก-มันออยบีทปะเดยเต” (นางจาด สำราญสุข อายุ 48 ปี หมอจับเส้น. 19 พย. 52 ) หมายถึง คนที่เคยแท้งบุตร ไม่ให้อยู่ใกล้สามี ซึ่งหมายถึง ต้องงดมีเพศสัมพันธ์กับสามี เพื่อป้องกันการแท้งบุตรได้
“เรบ-นองเบยแค นองเลจ กแมย-เดอ-เพลอว ฉงาย คลาย-เวียเลจ-มุนกันน็อด” (นางซึม สำราญสุข อายุ 74 ปี ผู้สูงอายุ. 22 พย. 52 ) หมายถึง 3 เดือนก่อนคลอด ห้ามเดินทางไกล อาจคลอดก่อนกำหนดได้ ซึ่งข้อปฏิบัติดังกล่าวตรงกับข้อควรปฏิบัติในแนวทางแพทย์แผนปัจจุบัน
“แฮ-ขมอ็ย ฮามเลย เวีย-โลดจับ-เลิดน๊ะ” นางซึม สำราญสุข อายุ 74 ปี ผู้สูงอายุ. 22 พย. 52 หมายถึงหญิงตั้งครรภ์ที่ท้องโตมากๆ หรือที่เรียกว่าท้องแก่ ใกล้คลอด ควรทำจิตใจให้สบาย ไม่ควรไปร่วมงานศพ หรือแห่ศพ ซึ่งอาจส่งผลให้จิตใจหดหู่ ซึมเศร้าได้
2. ระยะหลังคลอด
ระยะหลังคลอด (Puerperium, Postpartum period, Puerperal period) หมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่แรกคลอดไปจนถึง 6-8 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปรับตัวทั้งด้านกายวิภาคและสรีรวิทยาของอวัยวะต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปเนื่องจากการตั้งครรภ์และการคลอด รวมถึงภาวะจิตใจให้กลับคืนสู่สภาพปกติเหมือนก่อนการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังรวมถึงการปรับตัว ด้านบทบาทของความเป็นมารดาและการคงบทบาทของภรรยาระยะหลังคลอด ระยะหลังคลอดอาจเกิดได้ทั้งภาวะปกติและผิดปกติ ถ้าเป็นระยะหลังคลอดในภาวะผิดปกติ จะหมายถึง ภาวะที่มีการตกเลือดหลังคลอด การติดเชื้อหลังคลอด ซึ่งหมายถึงการติดเชื้อที่ระบบสืบพันธุ์ ระบบทางเดินปัสสาวะ เต้านม และระบบไหลเวียนเลือด โดยความผิดปกติจะเกิดขึ้นในช่วง 6-8 สัปดาห์ แล้วอาจหายเป็นปกติภายใน 6-8 สัปดาห์ หรือใช้เวลานานกว่านี้ ซึ่งภาวะดังกล่าวทำให้การปรับตัวด้านกายวิภาคและสรีรของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการคลอด และสภาพจิตใจของมารดาหลังคลอดไม่กลับคืนสู่สภาพเหมือนก่อน ตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบถึงการปรับบทบาทความเป็นมารดา และการคงไว้ซึ่งบทบาทภรรยาด้วย ซึ่งต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ ให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุดซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นเดิม ได้มีความแยบยลในการดูแล และฟื้นฟูร่างกาย จิตใจของสตรีหลังคลอด ได้เป็นอย่างดี และเป็นข้อปฏิบัติที่มีเหตุผล แฝงความนัยที่สอดคล้องกับแนวทางการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยแบ่งการดูแลหลังคลอดได้ 2 ระยะ ดังนี้ คือ
2.1. หลังคลอด 7-10 วันแรก
การปฏิบัติตัวขณะอยู่ไฟ :


ดื่มน้ำอุ่น อาบน้ำอุ่น “เดะ-กเดา เพอะ-กเดา” (นางซึม สำราญสุข อายุ 74 ปี ผู้สูงอายุ. 22 พย. 52)
“รนา-เนอว-เพลิง-บานเจริน เทอ-ออย-มันชือได ชือเจิง” การอยู่ไฟทำให้ร่างกายของมารดาหลังคลอดที่สูญเสียพลังงาน น้ำ และเลือดจากการคลอด อบอุ่นขึ้น เคลื่อนไหวแขนขาได้สะดวก ไม่ปวดแข้งขา (นางจาด สำราญสุข อายุ 48 ปี หมอจับเส้น. 19 พย. 52 ) และความอุ่นที่พอประมาณ จากการอยู่ไฟนี่เอง ยังช่วยให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณแผลฝีเย็บได้ดี แผลแห้ง ติดเร็ว ไม่ติดเชื้อ ลดปวด ลดบวมได้เร็ว เนื่องจากหลังคลอดมักมีแผลฝีเย็บ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด และมีการติดเชื้อตามมาได้ อาการบวมหรือห้อเลือด (Ecchymosis) เล็กน้อยถือเป็นภาวะปกติในสัปดาห์แรกหลังคลอด
การสังเกตอาการผิดปกติ :
มดลูกจะลดทั้งน้ำหนักและขนาด เพื่อกลับคืนสู่สภาพปกติเหมือนก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งเรียกว่า มดลูกเข้าอู่ (Involution of uterus) ประมาณ 7 วัน หลังคลอด ระดับยอดมดลูกจะอยู่กึ่งกลางระหว่างสะดือกับกระดูกหัวหน่าว
”เยี่ยมแม่หลังคลอดที่บ้านทุกเช้า ติดกัน 7-10 วัน ไปคลึงมดลูก เค้นเลือดที่ค้างออกให้หมด จะได้ไม่มีเลือดค้าง มดลูกเข้าอู่ดี”(นางเป็ง มีบุตรดี อายุ 80 ปี ผดุงครรภ์โบราณ. 20 พย. 52) ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดูแลแผนปัจจุบัน การที่มดลูกจะหดรัดตัวดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการไม่มีเศษเลือด( Blood clot) หรือเศษรกค้าง (retained of placenta) น้ำคาวปลา (Lochia)ไหลสะดวกดี และยังเป็นการติดตามเยี่ยมเพื่อถามอาการเปลี่ยนแปลง ให้ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวเพิ่มเติม บำรุงขวัญกำลังใจแก่มารดาหลังคลอดช่วงแรกด้วย



การรับประทานอาหาร และการใช้สมุนไพร :
สมุนไพรขับเลือด ขับน้ำคาวปลา: “รากมะละกอตัวผู้ แก่นต้นมะขาม ต้นตังกอผี นำมาต้มรวมในหม้อเดียวกัน รินเอาน้ำกิน ช่วยขับเลือด” (นายลิง เปรียบดีสุด อายุ 82 ปี ผู้เฒ่าและหมอพื้นบ้านในหมู่ที่ 2 ตำบลตาเบา. 30 กันยายน 2552)
ด้านจิตใจของมารดาหลังคลอด การมีอารมณ์ขัดแย้งและความเจ็บปวด ก็จะมีผลให้การหลั่งน้ำนมลดลง ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นเดิมได้ช่วยให้มารดาหลังคลอดได้พักผ่อน ลดอาการอ่อนเพลีย ด้วยการอยู่ไฟ มีสามี แม่ย่า แม่ยาย ช่วยกันดูแล และนอกจากนั้นยังมีสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนช่วยขับเลือด ขับลม ขับน้ำนมให้ดื่มด้วย ดังคำบอกเล่าของหมอสมุนไพรในหมู่ 11 ตำบลตาเบา (นายสมพร ดวงใจ อายุ 60 ปี. 31 สค. 52) สูตรสมุนไพรประสะน้ำนม ได้แก่ “แก่นต้นลำดวน กระเทียม 4-5 กลีบ พริกไทยเล็กน้อยตามชอบว่าให้ร้อนมากน้อย เอามาต้มรวมกัน ให้น้ำออกสีแดง หรือถ้าให้ดี ใส่น้ำ 3 ส่วน ต้มให้เหลือ 1 ส่วน รินน้ำให้แม่หลังคลอดกิน ทำให้นมคัดตึง น้ำนมเยอะ ไหลดี” ให้ดื่มตั้งแต่ภายใน 2-3 วันแรกเลย
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อน :
ห้ามยกของหนัก ทำให้มดลูกหย่อน “มันออย-เลอะ-ทง็วน น็อง-ทเลี๊ยะซโบน” (สนทนากลุ่มสตรีและผู้ดูแล สามี จำนวน 6 คน ที่เคยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลหลังคลอด. 18 พย. 52) กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ความแข็งแรงค่อยๆ เริ่มกลับคืนมาแต่ไม่เหมือนเดิม ถ้ามีการฉีกขาดหรือขยายออกไปมากจากการคลอดอาจทำให้เกิดอวัยวะสืบพันธุ์เคลื่อนต่ำ (Genital hernia) ได้ การยกของหนัก เป็นการเพิ่มความดันบริเวณช่องท้อง ก่อให้เกิดภาวะมดลูกหย่อนได้
งดมีเพศสัมพันธ์กับสามี เพื่อความปลอดภัย ไม่ติดเชื้อเข้าทางช่องคลอด หรือแผลฝีเย็บ “ตอม-มันออยเบท-ปะเดย-เวีย-ตะเจี๊ยะ เตจน็องมันโสรล” (นางซึม สำราญสุข อายุ 74 ปี ผู้สูงอายุ. 22 พย. 52 ) หมายถึง งดมีเพศสัมพันธ์กับสามี เพราะทำให้ร่างกายได้รับความเย็น อาจป่วยได้ ซึ่งหากมารดาร่างกายมีการติดเชื้อ อาการแสดงที่เกิดจากภาวะติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ร่างกายจะเริ่มมีไข้สูง เมื่อเข้าสู่ภาวะช็อคอุณหภูมิร่างกายจะเย็นลง ระดับความรู้สติลดลง อาจเสียชีวิตได้
การรักษาความสะอาดของร่างกาย ข้อปฏิบัติเชื่อถือ สืบทอดกันแต่เดิม คือการอาบน้ำอุ่น อาบบนบ้าน ซึ่งหมายถึงไม่ให้มารดาหลังคลอดออกไปลงอาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง เพราะอาจเกิดการติดเชื้อเข้าทางโพรงมดลูก เนื่องจากปากมดลูกยังไม่ปิด และน้ำที่อาบสามีจะขุดร่องให้ไหลไปรวมกันอยู่เป็นที่ใต้ถุน หรือข้างบ้าน คลุมด้วยไม้หนาม เชื่อว่าป้องกันไม่ให้ผีปอบมาเก็บกินน้ำที่ล้างคาวเลือดของมารดาหลังคลอด ซึ่งจะทำให้มารดาหลังคลอดเจ็บป่วยได้ นั่นคือหลักสุขาภิบาลที่ชาญฉลาดของภูมิปัญญา เนื่องจากการคลุมด้วยไม้หนามไว้ ช่วยป้องกันเด็กๆ หรือสัตว์ต่างๆเข้าใกล้ ซึ่งอาจไปขุดคุ้ย ทำให้เกิดแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ ซึ่งในปัจจุบันการอาบน้ำ มักจะอาบในห้องน้ำที่มีหลักสุขาภิบาลดีแล้ว จึงอาจจะไม่สามารถพบเห็นภาพเดิมในอดีตอีก
2.2. หลังคลอด หลัง 7-10 วัน ไปแล้ว
การปฏิบัติตัวขณะอยู่ไฟ :
กรณียังอยู่ไฟต้องงดมีเพศสัมพันธ์กับสามีต่อ ช่วยคุมกำเนิดได้นาน “เนอว-เพลิง-บานยูร์-คุมบานยูร์” (นางจาด สำราญสุข อายุ 48 ปี หมอจับเส้น. 19 พย. 52 ) อาบอุ่น ดื่มอุ่นต่อ เพราะการดื่มอุ่น คือการดื่มน้ำที่ผ่านการต้ม ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อทางเดินอาหาร ซึ่งส่งผลให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
การรับประทานอาหาร และการใช้สมุนไพร :
เลือกอาหารรับประทานที่ดีกับร่างกาย “ตอม-นมปันเจาะ เวีย-ปโอม ตอม-ตัมเปียง-เวียเทอ-ออย” ชือได ชือเจิง” หมายถึงงดรับประทานขนมจีน เพราะเป็นของหมักดอง อาจทำให้มีปัญหาในระบบทางเดินอาหาร เกิดท้องร่วง เสียน้ำ และเกลือแร่ ร่างกายอ่อนเพลียได้ งดรับประทานหน่อไม้ เพราะมีกรดยูริคสูง ทำให้เกิดปัญหาปวดข้อ ปวดเข่าได้ (สนทนากลุ่มสตรีและผู้ดูแล สามี จำนวน 6 คน ที่เคยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลหลังคลอด. 18 พย. 52)
เต้านมมารดาหลังคลอด ในระยะให้นมบุตร (Lactation) ขนาดของเต้านมจะมีขนาดใหญ่
กว่าในระยะตั้งครรภ์ เพราะถุงผลิตน้ำนมมีการสร้างน้ำนมและท่อน้ำนมมีการขยายใหญ่เต็มที่เพื่อเก็บน้ำนมสำหรับเลี้ยงทารก จากการวิจัยเชิงสำรวจของหน่วยงานหลังคลอด โรงพยาบาลปราสาท เมื่อปี 2551 – 2552 พบว่า 61% ของสตรีหลังคลอดทำนา มีความรู้ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระดับสูง 54.9% , ทัศนคติระดับดี 73% แต่มีเพียง 34% เท่านั้นที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ 6 เดือนเต็ม ซึ่งสตรีหลังคลอดที่อาชีพทำนา มักเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาดั้งเดิมในพื้นที่อำเภอปราสาท ไม่ย้ายถิ่นฐาน ยึดถือแนวปฏิบัติตามวิธี ที่สืบทอดกันต่อๆมา และต้องการการสนับสนุนด้านความรู้ในการเลือกใช้สมุนไพรท้องถิ่นที่ช่วยขับน้ำนม ที่จะช่วยส่งเสริมให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จมากขึ้น มีการเลือกรับประทานอาหารที่เชื่อว่าเป็นสมุนไพรขับน้ำนม เช่น น้ำขิง ปลีกล้วย ยาต้มเปลือกต้นลำดวน เป็นต้น (นายลิง เปรียบดีสุด ผู้เฒ่าในหมู่ที่ 2 ตำบลตาเบา. 30 กันยายน 2552) และสมุนไพรประสะน้ำนม ที่ใช้ในช่วง 7-10 วันแรกหลังคลอด ก็ยังสามารถดื่มต่อเนื่องได้อีกเช่นกัน
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อน :
“รนา-ตอมมันบาน เวียมันโสรล เก-ฮาว-ทาเวีย-ซี-กันเตล” (สนทนากลุ่มสตรีและผู้ดูแล สามี จำนวน 6 คน ที่เคยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลหลังคลอด. 18 พย. 52) ใครงดมีเพศสัมพันธ์กับสามีไม่ได้ จะป่วย ผอมแห้งลงๆ ไม่อยากอาหาร บางรายถึงแก่ชีวิต
การงดยกของหนัก ยังต้องปฏิบัติต่อไปอีก บางคนก็ปฏิบัติไปจนถึงหลังคลอด 3 เดือน บ้างก็ 6 เดือน
ซึ่งความเชื่อ หรือการยึดถือปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น มารดาหลังคลอด มักไม่กล้าที่จะบอกเล่าให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ที่ติดตามเยี่ยมหลังคลอดให้ทราบ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน คิดว่าอาจได้รับการตำหนิจากเจ้าหน้าที่ ที่ไปพบในการเยี่ยมบ้านได้ และในโรงพยาบาลปราสาทและสถานบริการสาธารณสุขเครือข่ายในพื้นที่เอง ก็มีระบบบริการการแพทย์แผนไทย แต่ยังไม่เคยมีผู้ศึกษาว่าตรงตามความเชื่อเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่หรือไม่ และไม่ได้นำมาประยุกต์ผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อดูแลสุขภาพมารดาทารกเลย มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมาแล้วส่งผลดีต่อสุขภาพสตรีหลังคลอด มาผสมผสานกับแนวทางการแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อจัดบริการให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ดังปรากฏในข้อเสนอของกลุ่มมารดา และ ญาติ จำนวน 7 คน ที่หน่วยงานหลังคลอด. สนทนากลุ่ม 31 สค. 52 บอกว่า
“ออย-มอ-ปรับ ทาเนอวเพลิงยังนา บันเจีย” หมายถึง ให้เจ้าหน้าที่บอกว่าอยู่ไฟแบบไหน จึงจะได้ผลดี
“จแนย-ออยตอมโอย –กแมย เวียเค๊าะ-ทนัม-มอ” แนะนำอาหารที่มีในพื้นที่ว่าควรงดอันไหน จะได้ไม่ขัดกับยาที่หมอให้
“อยากจะได้อบไอน้ำสมุนไพรหอมๆ น่าจะมีแรง มีกำลังดี”
“ไม่อยากให้หมอตำหนิ เวลาไปเจอแม่อยู่ไฟที่บ้าน อยากให้แนะนำวิธีที่ถูกต้อง”

บทสรุป
ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ยังคงสืบทอด และปฏิบัติต่อๆกันมา โดยเฉพาะในการดูแลสุขภาพตนเองของหญิงหลังคลอดในกลุ่มชาติพันธ์แขมร์เลอ ผู้เขียนเห็นว่า เราควรเปลี่ยนมุมมองจากฐานความคิดเดิม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราเริ่มมองเห็นศักยภาพของภูมิปัญญาพื้นบ้าน สะท้อนให้เห็นถึงการเคารพในศักดิ์ศรีของประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานในชุมชน ซึ่งถ้าเราศึกษาอย่างเข้าใจถ่องแท้แล้ว จะสามารถนำมาปรับใช้กับการบริการสาธารณสุขชุมชนได้ อย่างผสมผสานกลมกลืน ไม่ขัดต่อความรู้ที่ชุมชนมีอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่มองข้ามบริบททางวัฒนธรรม ไม่ขัดต่อหลักการดูแลส่งเสริมสุขภาพ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบงานสาธารณสุข และพัฒนาระบบวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ช่วยลดความเข้าใจที่แตกต่างกัน ระหว่างบุคลากรทางสาธารณสุขกับผู้รับบริการ บ่งบอกถึงการยอมรับสิทธิมนุษยชน ช่วยส่งเสริมศักยภาพในการพึ่งตนเองของชุมชน สนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน หรือ การแพทย์พื้นบ้าน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้
......................................................................................................................................

บรรณานุกรม
กิ่งแก้ว เกษโกวิษ และคณะ. ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ยังคงสืบทอดของหญิงตั้งครรภ์ หญิง
หลังคลอด และการเลี้ยงดูเด็ก ในเขตอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น. 2548
เกรียงยุทธ ก้อนทอง. การค้นคว้าแบบอิสระ ปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต
(สุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ภาวะซึมเศร้าในมารดาหลังคลอด โรงพยาบาลน่าน. 2548
จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร. วิทยานิพนธ์ ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต(การส่งเสริมสุขภาพ).
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการดูแลสุขภาพของหญิงหลังคลอด ชาวลีซู.2547
จรรยา จินต์จิระนันท์. วิทยานิพนธ์ ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต(การส่งเสริมสุขภาพ).
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลตนเองของหญิงหลังคลอด ในตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่. 2547
ดวงชีวัน บูรณะกิจ. วิทยานิพนธ์ปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาล
ครอบครัว บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ความเครียดและพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี ในจังหวัดขอนแก่น. 2544
สุพรรณี สุ่มเล็กและคณะ. วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 28
ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน) . บทความคุณภาพชีวิตของมารดาที่ติดเชื้อเอดส์. 2548
สิริพันธ์ รุ่งวิชานิวัฒน์ และคณะ. วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มค. – เมย. สารสนเทศที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาพื้นบ้านทางการแพทย์แผนไทย : กรณีศึกษาอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี. 2552
เอกสารอัดสำเนา. หนังสือพิมพ์มติชน. บทความเรื่อง ประชากรโลก : ประชากรไทย. 2547
http://www.tkc.go.th/ ศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาค
ตะวันออกเฉียงเหนือ. 2552 (ออนไลน์) สืบค้นวันที่ 19 กันยายน 2552
http://www.panyathai.or.th บทความภูมิปัญญาชาวบ้าน. 2552 (ออนไลน์) สืบค้นวันที่ 19
กันยายน 2552
http://www.school.net.th/ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ใน
พระบาทสมเด็จประเจ้าอยู่หัว. 2552 (ออนไลน์) สืบค้นวันที่ 19 กันยายน 2552
http://www.isangate.com/ ภูมิปัญญาอีสาน. 2550 (ออนไลน์) สืบค้นวันที่ 19 กันยายน
2552

รายชื่อผู้ให้ข้อมูลสัมภาษณ์เชิงลึกภาคสนาม
ผู้ให้ข้อมูลหลัก หมู่ 2 และหมู่ 11 ตำบลตาเบา อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
1. ชื่อ นายสมพร ดวงใจ อายุ 61 ปี, หมอสมุนไพร, สัมภาษณ์ (31 สิงหาคม 2552)
2. ชื่อ นายลิง เปรียบดีสุด อายุ 82 ปี, ผู้สูงอายุและหมอพื้นบ้าน, สัมภาษณ์ (30 กันยายน 2552)
3. ชื่อ นางเป็ง มีบุตรดี อายุ 80 ปี, ผดุงครรภ์โบราณ, สัมภาษณ์ (20 กันยายน 2552)
4. ชื่อ นางจาด สำราญสุข อายุ 48 ปี, หมอจับเส้น, สัมภาษณ์ (19 พฤศจิกายน 2552)
5. ชื่อ นางซึม สำราญสุข อายุ 74 ปี, ผู้สูงอายุ, สัมภาษณ์ (22 พฤศจิกายน 2552)
6. กลุ่มสตรีหลังคลอดและ ญาติ จำนวน 7 คน ตึกหลังคลอด รพ.ปราสาท, สนทนากลุ่ม (31 สิงหาคม 2552)
7. กลุ่มสตรีหลังคลอดแม่ย่า แม่ยาย และสามีผู้คลอด จำนวน 6 คน ตึกหลังคลอด รพ.ปราสาท, สนทนากลุ่ม (16 สิงหาคม 2552)
8. กลุ่มสตรี ผู้ดูแล และสามี ที่เคยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลสตรีหลังคลอดจำนวน 6 คน, สนทนากลุ่ม (16 สิงหาคม 2552)

ผู้ให้ข้อมูลหลัก เมืองชนะสมบูรณ์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
1. ชื่อ แม่บัวลี ห่อชินวงษ์ อายุ 74 ปี, ผู้สูงอายุ, สัมภาษณ์ (22 สิงหาคม 2552)
2. ชื่อ แม่ได้ สีนาวงษ์ อายุ 63 ปี, ผู้สูงอายุ, สัมภาษณ์ (22 สิงหาคม 2552)